วันอาทิตย์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2561

สรุปย่อวิชานิติปรัชญา ตอนที่ 2

สำนักความคิดในทางกฎหมายฝ่ายบ้านเมือง (School of Positive Law)
1.  ความหมาย
               
   คำในภาษาอังกฤษที่เรียกว่า “positive law” นั้น เรียกกันหลายอย่างในภาคภาษาไทย เช่น “กฎหมายปฏิฐาน” บ้าง “กฎหมายที่เคร่งครัด” บ้าง “กฎหมายของรัฐที่บังคับใช้” บ้าง “กฎหมายส่วนบัญญัติ” บ้าง แต่รวมแล้วก็มีความหมายอย่างเดียวกัน คือ กฎหมายที่ทางการตราขึ้นบังคับใช้ในบ้านเมือง ซึ่งจะขอเรียกเสียใหม่ในคำบรรยายนี้ว่า “กฎหมายบ้างเมือง”
               
   สำนักความคิดทางกฎหมายบ้านเมือง มีความเห็นว่า การใช้กฎหมายต้องใช้ตามตัวบทกฎหมายนั้นเองอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องดูบทนิยามศัพท์ของกฎหมาย

2.  กำเนิดและวิวัฒนาการ
               
   สำนัก ความคิดทางกฎหมายบ้านเมือง เกิดขึ้นจากวัตถุประสงค์ที่ว่าต้องการให้กฎหมายมีข้อความแน่นอนตายตัว เพื่อว่าจะได้เป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของราษฎร บุคคลที่ประกอบกิจการต่าง ๆ จะได้รู้ล่วงหน้าว่าผลแห่งกิจการของตนในทางกฎหมายเป็นอย่างไร สำนักความคิดนี้ไม่สนใจในคุณธรรมและจริยธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณธรรมและจริยธรรมในกฎหมาย ด้วยเหตุนี้นักกฎหมายฝ่ายบ้านเมืองจึงถือว่ากฎหมายของรัฐที่บังคับใช้เป็น กฎหมายที่สมบูรณ์ใช้การได้จริง (valid) โดยไม่ต้องพิจารณาว่าขัดกับกฎหมายธรรมชาติหรือไม่ แท้จริงแล้ว นักกฎหมายฝ่ายบ้านเมืองไม่สนใจว่ามีกฎหมายธรรมชาติอยู่จริงหรือไม่และไม่สนใจว่ากฎหมายของรัฐที่บังคับใช้จะยุติธรรมชอบธรรม และสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมหรือหาไม่ (Positive Law….is something ascertainable and valid without regard to subjective considerations.  Hence it must be regarded as separate from morals)
                พระเจ้าจักรพรรดิจัสติเนียนแห่งโรมทรงจัดทำประมวลกฎหมายที่เรียกกันว่า “Corpus Juris Civilis” ขึ้น ก็เพื่อจะให้เป็นกฎหมายฝ่ายบ้านเมืองที่ยิ่งยิ่งเหนือกฎหมายใด ๆ ในขณะนั้น ข้อนี้แสดงให้เห็นถึงการแข่งขันระหว่างสำนักความคิดทางกฎหมายธรรมชาติและสำนักความคิดทางกฎหมายฝ่ายบ้านเมือง ซึ่งมีวิวัฒนาการตลอดมา
                ในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา สำนักกฎหมายธรรมชาติรุ่งเรืองมาก ทั้งนี้ก็ด้วยอิทธิพลของนักบุญโธมัส  อไควนัส ในสมัยกลาง และปรัชญาเมธีคนอื่น ๆ ในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยานั้นเอง แต่ในขณะเดียวกันได้มีปรัชญาเมธีคนสำคัญผู้หนึ่งเขียนวรรณกรรมคัดค้านสำนักกฎหมายธรรมชาติอย่างรุนแรง ผู้นั้นคือโธมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbs) นักปรัชญาชาวอังกฤษผู้เรียนเรียงเรื่อง “เลวิเอธัน” (Leviatham) ฮอบส์ถือว่ากฎหมายสำคัญกว่าคุณธรรมและจริยธรรมฮอบส์ให้ความเห็นว่า                  รัฏฐาธิปัตย์ (sovereign) เป็นบุคคลสำคัญซึ่งสามารถใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือกำราบปราบปรามผู้แข็งข้อ หรือทำลายความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้โดยไม่ต้องพิเคราะห์ว่า รัฏฐาธิปัตย์นั้นได้อำนาจมาจากไหน และโดยวิธีทางใด ความคิดนี้ฮอบส์คงได้รับอิทธิพลมาจากวรรณกรรมในต้นสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาของมา ดิอาเวลลีเรื่อง “เจ้า” (The Prince) ฮอบส์กล่าวว่าราษฎรจะต้องยอมรับอำนาจการปกครองของผู้ที่ได้ชัยชนะ ถ้ารัฏฐาธิปัตย์คนก่อนไม่สามรรถปกป้องราษฎรได้อีก ใครที่โค่นล้มรัฏฐาธิปัตย์คนก่อนได้ และมีอำนาจขึ้นแทนที่ย่อมเป็นรัฏฐาธิปัตย์คนใหม่ที่ราษฎรจะต้องยอมรับนับถือปรัชญาข้อนี้มีอิทธิพลมากในทางการเมือง และระบบกฎหมายอาญาว่าด้วยความผิดฐาน “ขบถ” ในเวลาต่อมา ได้มีผู้วิจารณ์ปรัชญาของฮอบส์ว่า “เป็นต้นแบบความคิดของนักกฎหมายสกุลหนึ่ง ซึ่งรวมตลอดมาถึงประเทศไทยที่ไม่สนใจในทางจริยธรรมอื่นใด ยิ่งไปกว่าพื้นฐานทางอำนาจของผู้ปกครองรัฐเท่านั้น”
                ฮอบส์ได้อธิบายต่อไปอีกด้วยว่า สิ่งซึ่งเป็นสากล (Jus generale) นั้นไม่มี แม้คุณธรรมทั้งหลายก็ไม่มีตัวตนเอง หากแต่เป็นสิ่งที่คนอื่นเรียกขานขึ้นเท่านั้น เช่นทำอย่างนั้นดี ทำอย่างนั้ชั่ว ล้วนแต่เป็นเรื่องที่คนอื่นเรียกทั้งสิ้น สำหรับฮอบส์แล้วคนที่มีอำนาจเรียกได้อย่างถูกต้อง และต้องถือว่าเป็นความเห็นที่ยุติคือ “รัฏฐาธิปัตย์” คำอธิบายข้อนี้เห็นจะตรงกับสุภาษิตโบราณของไทยที่ว่า “ของสิ่งใดเจ้าว่างามต้องตามเจ้า ใครเลยเล่าจะไม่งามตามเสด็จ”
                หลักจากสมัยฮอบส์เป็นต้นมา ผู้นิยมในสำนักความคิดทางกฎหมายฝ่ายบ้านเมืองก็มีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศอังกฤษ อาทิเช่น จอห์น ออสติน เป็นต้น ออสตินเป็นศาสตราจารย์ทางปรัชญากฎหมายซึ่งไม่ยอมเชื่อในกฎหมายธรรมชาติ และสิทธิธรรมชาติออสตินกล่าวว่า กฎหมายคือคำสั่งคำบัญชาของรัฏฐาธิปัตย์ซึ่งสั่งแก่ราษฎรทั้งหลาย ถ้าผู้ใดไม่ปฏิบัติตาม ผู้นั้นต้องรับโทษา
                อิมมานูเอล ค้านท์ (Immanuel Kant) และ แฮนส์ เคลเส้น (Hans Kelsen) เป็นนักปรัชญากฎหมายยุโรปตะวันออกในยุคหลังที่มีส่วนทำให้กฎหมายฝ่ายบ้านเมืองมีอิทธิพลมากขึ้น โดยค้านท์ตั้งทฤษฎีเด็ดขาด (The Absolute Theory) และเคลเส้นตั้งทฤษฎีกฎหมายบริสุทธิ์ (The Pure Law Theory) ขึ้นอธิบายขยายความสำนักความคิดทางกฎหมายฝ่ายบ้านเมืองให้พิสดารออกไปยิ่งขึ้น

Cr / http://tayucases.blogspot.com/2011/02/blog-post_1108.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น